คณิตศาสตร์สำหรับเด็ก
- Bumblebee nursery
- May 30, 2017
- 1 min read
คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นประสบการณ์การเรียนรู้เกี่ยวกับจำนวน การดำเนินการเกี่ยวกับจำนวน ฟังก์ชันและความสัมพันธ์ ความน่าจะเป็น และการวัดที่เน้นการเปรียบเทียบและการจำแนก การจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ การเรียนภาษาและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้ได้จากการจัดกิจกรรมปฏิบัติการหรือการลงมือกระทำ ทำให้เด็กซึมซับทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่เป็นทักษะพื้นฐานนำไปสู่ทักษะการคิดคำนวณ การบวก การลบในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ฌอง เพียเจท์ (Jean Piaget) นักการศึกษาปฐมวัยได้เสนอทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมกับเด็กในระดับปฐมวัยดังนี้
ทักษะการจัดหมวดหมู่ ประกอบด้วย
การจับคู่ (Matching) เป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักสังเกตลักษณะต่างๆและจับคู่สิ่งที่เข้าคู่กัน หรือเหมือนกัน
การจัดประเภท (Classification) เป็นการฝึกฝนให้เด็กรู้จักสังเกตคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ว่ามีความแตกต่างหรือเหมือนกันในบางเรื่อง และสามารถจัดเป็นประเภทต่างๆได้
การเปรียบเทียบ (Comparing) เด็กจะต้องแสดงความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งหรือมากกว่า รู้จักใช้คำศัพท์ เช่น ยาวกว่า สั้นกว่า หนักกว่า เบากว่า เป็นต้น
การจัดลำดับ (Ordering) เป็นการจัดสิ่งของชุดหนึ่งๆตามคำสั่งหรือตามกฎ เช่น จัดบล็อก 5 แท่งที่มีความยาวไม่เท่ากัน ให้เรียงลำดับจากสูงไปต่ำ หรือจากสั้นไปหายาว เป็นต้น
การเรียงลำดับ ประกอบด้วย
การนับ (Counting) เป็นคณิตศาสตร์เกี่ยวกับตัวเลขอันดับแรกที่เด็กรู้จัก เป็นการนับอย่างมีความหมาย เช่น การนับลำดับตั้งแต่ 1–10 หรือมากกว่านั้น
จำนวน (Number) เป็นการให้เด็กรู้จักจำนวนของสิ่งที่เห็นหรือใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ให้เด็กเล่นของเล่นเกี่ยวกับจำนวน ให้เด็กได้นับและคิดเอง โดยครูเป็นผู้วางแผนจัดกิจกรรม อาจมีการเปรียบเทียบแทรกเข้าไปด้วย เช่น มาก กว่า น้อยกว่า ฯลฯ
เซต (Set) เป็นการสอนเรื่องการจัดชุดอย่างง่ายๆจากสิ่งรอบๆตัว มีการเชื่อมโยงกับสภาพรวม เช่น รองเท้ากับถุงเท้า ถือว่าเป็น 1 ชุด หรือ 1 เซต ในห้องเรียนมีบุคคลหลายประเภท แยกได้เป็น 3 เซต คือ เซตของครู เซตของนัก เรียน เซตของพี่เลี้ยง เป็นต้น
เศษส่วน (Fraction) การเรียนเรื่องเศษส่วนมักจะเริ่มเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ในระดับปฐมวัยสามารถสอนได้ โดยเน้นส่วนรวมให้เด็กเห็นก่อน ให้เด็กปฏิบัติเพื่อให้เด็กเข้าใจความหมายและมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับครึ่งหนึ่งหรือ ½
มิติสัมพันธ์ ประกอบด้วยเนื้อหาดังนี้
รูปทรงและเนื้อที่ (Shape and Space) ในการเรียนรู้เรื่องรูปทรงและเนื้อที่ นอกจากให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องรูปทรงและเนื้อที่จากการเล่นตามปกติแล้ว ครูต้องจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า ความลึก ตื้น กว้าง และแคบให้แก่เด็กด้วย
การทำตามแบบหรือลวดลาย (Patterning) เป็นการพัฒนาให้เด็กจดจำรูปแบบหรือลวดลาย และพัฒนาการจำแนกด้วยสายตา ให้เด็กฝึกการสังเกต ฝึกการทำตามแบบและต่อให้สมบูรณ์
ความสัมพันธ์เกี่ยวกับเวลา มีเนื้อหาประกอบด้วย
การวัด (Measurement) ให้เด็กรู้จักความยาว ความสูง และระยะทาง การชั่งน้ำหนัก การตวงและรู้จักการประมาณอย่างง่ายๆ มักให้เด็กลงมือวัดด้วยตนเอง ก่อนที่จะให้เด็กรู้จักการวัด ควรให้เด็กฝึกฝนการเปรียบเทียบและการจัด ลำดับก่อน
เวลา (Time) ให้เด็กรู้จักเวลาเช้า สาย นาน เร็ว บ่าย ค่ำ การอ่านเวลาอย่างง่ายๆ การหาความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับกิจกรรมที่ปฏิบัติ หรือเหตุการณ์ประจำวัน
การอนุรักษ์หรือการคงที่ด้านปริมาณ (Conservation) ครูอาจสอนเรื่องการอนุรักษ์ได้ โดยให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง จุดมุ่งหมายของการสอนการอนุรักษ์ คือ ต้องการให้เด็กมีความคิดรวบยอดเรื่องการอนุรักษ์ปริมาณของวัตถุที่ยังคงที่ ถึงแม้จะมีการย้ายที่หรือทำให้รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น
การจัดประสบการณ์หน่วย น้ำ ครูอาจจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์เรื่องลักษณะของน้ำแล้วบูรณาการเรื่องการอนุรักษ์ โดยการให้เด็กสังเกตระดับหรือปริมาณของน้ำในแก้ว 2 ใบที่มีขนาดเท่ากัน หลังจากนั้นครูนำแก้วทรงสูงมาวาง แล้วเทน้ำจากแก้วใบที่ 1 ลงในแก้วทรงสูงเพื่อให้เด็กสังเกตและตอบคำถามว่า ปริมาณของน้ำที่อยู่ในแก้วทั้งสองใบมีปริมาณเท่ากันหรือไม่
นอกจากนี้ในกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์ การสร้างภาพบนกระดาษด้วยเชือก ในขั้นแนะนำวัสดุอุปกรณ์ ครูอาจนำเชือก 2 เส้นมาวางในลักษณะขนานกัน แล้วให้เด็กสังเกตว่ามีความยาวเท่ากันหรือไม่ จากนั้นครูเลื่อนเชือกไปทางขวามือให้อยู่ในลักษณะเยื้องกับเชือกเส้นที่ 2 แต่อยู่ในแนว ขนานกันอยู่ ให้เด็กสังเกตแล้วถามว่า เชือกทั้งสองเส้นมีความยาวเท่ากันหรือไม่ -นอกจากนี้ ตัวอย่างจากการจัดกิจกรรมการปั้นดินน้ำมัน เมื่อครูแจกดินน้ำมันให้กับเด็กคนละ 1 ก้อนในปริมาณเท่ากัน ให้เด็กปั้นดินน้ำมันเป็นรูปต่างๆ เมื่อเด็กปั้นเสร็จ ครูจะถามเด็กว่า ตัวสัตว์ต่างๆที่เด็กแต่ละคนปั้น มีปริมาณดินน้ำมันเท่ากันหรือไม่
การสอนเรื่องการอนุรักษ์โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ในช่วงแรกๆของการสอนเด็กวัยนี้จะไม่สามารถบอกได้ว่า วัตถุต่างๆยังคงที่ แม้มีการย้ายที่หรือรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป แต่การจัดกิจกรรมเพื่อฝึกเด็กซ้ำแล้วซ้ำอีก จะพบว่าเด็กจะมีความสามารถในเรื่องการอนุรักษ์ของวัตถุได้ในที่สุด
Comentarios